โลโก้ของ Coinbase

อีเธอเรียมคืออะไร (1)

อีเธอเรียมคืออะไร

อีเธอร์เรียมเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองตามมูลค่าตามราคาตลาดรองจากบิตคอยน์ อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มการคำนวณแบบกระจายอำนาจที่สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันหลากหลาย ซึ่งรวมถึง DeFi ทั้งหมด

อีเธอร์เรียม ซึ่งเปิดตัวในปี 2015 เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองตามมูลค่าตามราคาตลาดรองจากบิตคอยน์ แต่แตกต่างจากบิตคอยน์คือ ไม่ได้สร้างเพื่อให้เป็นเงินดิจิทัล ผู้ก่อตั้งของอีเธอร์เรียมมุ่งหวังที่จะสร้างแพลตฟอร์มการคำนวณแบบกระจายอำนาจทั่วโลกในรูปแบบใหม่ ที่นำเอาความปลอดภัยและความเปิดกว้างของบล็อกเชนมาใช้ แล้วขยายคุณลักษณะเหล่านี้ไปยังแอปพลิเคชันที่หลากหลาย  

ทั้งเครื่องมือทางการเงิน เกม ไปจนถึงฐานข้อมูลที่ซับซ้อน ทั้งหมดล้วนทำงานอยู่บนบล็อกเชนอีเธอร์เรียม และศักยภาพในอนาคตของอีเธอร์เรียมนั้นมีข้อจำกัดจากจินตนาการของนักพัฒนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตามที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Ethereum Foundation กล่าวไว้ว่า “เราสามารถใช้อีเธอร์เรียมในการจัดระบบคำสั่ง กระจายอำนาจ รักษาความปลอดภัย และแลกเปลี่ยนได้แทบจะทุกสิ่ง”

  • อีเธอร์เรียมได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการลงทุนและแหล่งจัดเก็บความมั่งคั่งยอดนิยม (และนำไปใช้เพื่อส่งหรือรับมูลค่าได้โดยไม่ผ่านตัวกลางเหมือนกับบิตคอยน์)

  • บล็อกเชนอีเธอร์เรียมช่วยให้นักพัฒนาสร้างและเรียกใช้แอปพลิเคชันหลากหลายประเภทได้ ซึ่งมีทุกสิ่งตั้งแต่เกม ฐานข้อมูลขั้นสูง ไปจนถึงเครื่องมือทางการเงินแบบกระจายอำนาจที่ซับซ้อน ทำให้การดำเนินการเหล่านั้นไม่มีธนาคารหรือสถาบันอื่นๆ มาเป็นตัวกลาง 

  • แอปที่ใช้อีเธอร์เรียมสร้างขึ้นโดยใช้ “สัญญาอัจฉริยะ” โดยสัญญาอัจฉริยะเหมือนกับสัญญากระดาษทั่วไปที่มีการกำหนดเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างฝ่ายต่างๆ แต่สัญญาอัจฉริยะแตกต่างจากสัญญาแบบเดิมๆ คือ จะดำเนินการอัตโนมัติเมื่อมีปัจจัยที่เข้าเงื่อนไข โดยไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายที่เข้าร่วมรับรู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งของสัญญานั้นเป็นใคร และไม่จำเป็นต้องใช้ตัวกลางใดๆ 

  • อีเธอร์เรียมเหมือนกับบิตคอยน์ตรงที่ เป็นโครงการโอเพ่นซอร์สที่ไม่ได้มีเจ้าของหรือดำเนินการโดยบุคคลเพียงคนเดียว ทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตสามารถเรียกใช้โหนดอีเธอร์เรียมหรือโต้ตอบกับเครือข่ายได้

  • เช่นเดียวกับบล็อกเชนแบบกระจายอำนาจของบิตคอยน์ ที่ทำให้บุคคลแปลกหน้า 2 คนจากที่ใดก็ได้ในโลกสามารถส่งหรือรับเงินโดยไม่ต้องใช้ธนาคารมาเป็นตัวกลางได้ สัญญาอัจฉริยะที่ทำงานบนบล็อกเชนแบบกระจายอำนาจของอีเธอร์เรียมก็ช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทำงานได้ตามโปรแกรมที่เขียนไว้ทุกประการโดยไม่หยุดทำงาน ไม่มีการเซ็นเซอร์ การฉ้อโกง หรือการแทรกแซงของบุคคลที่สาม

นวัตกรรมที่ใช้ Ethereum ยอดนิยม ได้แก่ Stablecoins (เช่น USDC ซึ่งมีมูลค่าผูกกับเงินดอลลาร์โดยสัญญาอัจฉริยะ) แอปการเงินแบบกระจายศูนย์ (รวมเรียกว่า DeFi) และแอปแบบกระจายศูนย์อื่นๆ (หรือ dapps)

อีเธอร์เรียม อีเธอร์ และ ETH แตกต่างกันอย่างไร

อีเธอร์เรียมเป็นชื่อของเครือข่าย “อีเธอร์” คือโทเค็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้ภายในเครือข่ายอีเธอร์เรียม กล่าวคือ ในการใช้งานทั่วๆ ไป ผู้คนส่วนใหญ่จะเรียกโทเค็นนี้ว่า “ETH” (หรือไม่ก็เรียกว่า “อีเธอร์เรียม”) ส่วนวิธีการส่ง รับ หรือจัดเก็บมูลค่านั้น ETH ก็ทำงานเหมือนกันกับบิตคอยน์ แต่ก็มีบทบาทพิเศษในเครือข่าย Ethereum เช่นกัน เนื่องจากผู้ใช้ชำระค่าธรรมเนียมเป็น ETH เพื่อให้สัญญาอัจฉริยะทำงาน คุณก็อาจจะคิดภาพว่า ETH เป็นเหมือนกับเชื้อเพลิงที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ (และนี่คือเหตุผลที่เราเรียกค่าธรรมเนียมนี้ว่า “แก๊ส”)

ซึ่งถ้าเปรียบบิตคอยน์เป็น “ทองคำดิจิทัล” ETH ก็จะเป็นเหมือนกับ “น้ำมันดิจิทัล”

เราจะมีรางวัลจากการค้ำประกัน ETH2 บน Coinbase แล้วในเร็วๆ นี้

คุณจะสามารถใช้อีเธอร์เรียมให้ทำงานและรับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 5% ต่อปี

อีเธอร์เรียมปลอดภัยหรือไม่

ปัจจุบัน ETH ได้รับการรักษาความปลอดภัยโดย Ethereum บล็อกเชน โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “proof of stake” (เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้านล่าง)

แม่กุญแจที่มีสัญลักษณ์อีเธอร์เรียม

แนวคิดพื้นฐานของสกุลเงินดิจิทัลจะช่วยทำให้สกุลเงินดิจิทัลมีความปลอดภัย กล่าวคือ ระบบของสกุลเงินดิจิทัลเป็นแบบไม่มีการอนุญาต อีกทั้งซอฟต์แวร์หลักเป็นแบบโอเพ่นซอร์สจึงทำให้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักเข้ารหัสจำนวนมากสามารถตรวจสอบเครือข่ายและความปลอดภัยได้ในทุกๆ ด้าน 

แต่อย่างไรก็ตาม แอปที่ทำงานบนบล็อกเชนของอีเธอร์เรียมจะได้รับการรับรองว่าปลอดภัยในส่วนที่นักพัฒนาสร้างขึ้นมาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น บางครั้งโค้ดอาจมีข้อบกพร่องที่อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียเงินทุนได้ แม้ว่าทุกคนจะมองเห็นซอร์สโค้ด แต่ฐานผู้ใช้ของแต่ละแอปนั้นมีขนาดเล็กกว่าของฐานผู้ใช้โดยรวมของอีเธอร์เรียมมาก ดังนั้นจึงมีผู้คนจำนวนไม่มากที่มองเห็นซอร์สโค้ดดังกล่าว เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือควรค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับแอปแบบกระจายอำนาจที่คุณวางแผนจะใช้ 

อีเธอร์เรียมทำงานอย่างไร

คุณอาจเคยได้ยินว่าบล็อกเชนของบิตคอยน์นั้นคล้ายกันมากกับบัญชีแยกประเภทของธนาคารหรือแม้แต่สมุดเช็ค นี่คือยอดธุรกรรมทุกธุรกรรมบนเครือข่ายที่ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น และเครือข่ายทั้งหมดทำงานร่วมกันเพื่อให้มั่นใจว่ายอดจะแม่นยำและปลอดภัย

แต่ในทางกลับกัน บล็อกเชนของอีเธอร์เรียมจะเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ในลักษณะนั้น กล่าวคือ แม้ว่าจะทำงานในด้านเอกสารและรักษาความปลอดภัยให้แก่ธุรกรรม แต่ก็มีความยืดหยุ่นกว่าบล็อกเชนของบิตคอยน์มาก และนักพัฒนาสามารถใช้บล็อกเชนของอีเธอร์เรียมเพื่อสร้างเครื่องมือในหลากหลายประเภทได้ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์จัดการโลจิสติกส์ เกม ไปจนถึงแอปพลิเคชัน DeFi ทั้งหมด (ซึ่งครอบคลุมถึงการให้กู้ยืมเงิน การกู้ยืมเงิน การซื้อขาย และอีกมากมาย)

  • อีเธอร์เรียมใช้ 'เครื่องจักรเสมือนจริง' เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ ซึ่งเหมือนกับคอมพิวเตอร์เครื่องยักษ์ระดับโลกที่สร้างจากคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องที่มีซอฟต์แวร์อีเธอร์เรียมทำงานอยู่ ผู้เข้าร่วมต้องลงทุนสำหรับฮาร์ดแวร์และไฟฟ้า เพื่อให้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดเหล่านั้นทำงาน และในการชำระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เครือข่ายจะใช้เงินดิจิทัลของตนที่คล้ายกับบิตคอยน์เรียกว่าอีเธอร์ (หรือส่วนใหญ่เรียกว่า ETH) ชำระให้

  • ETH ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปเรื่อยๆ คุณจะได้โต้ตอบกับเครือข่ายอีเธอร์เรียมโดยใช้ ETH ในการชำระค่าใช้จ่ายสำหรับเครือข่ายเพื่อให้สัญญาอัจฉริยะทำงาน ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ชำระด้วย ETH เรียกว่า “แก๊ส” (Gas)

  • อัตราแก๊ซจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเครือข่ายนั้นมีความเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงใด Ethereum blockchain เวอร์ชันใหม่ที่เรียกว่า Ethereum 2.0 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ถูกนํามาใช้ในเดือนกันยายน 2022

Ethereum 2.0 คืออะไร

Ethereum 2.0 (หรือมักเรียกกันว่า ETH2) คือการอัปเกรดครั้งใหญ่ในเครือข่ายอีเธอร์เรียม ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เครือข่าย Ethereum เติบโตในขณะที่เพิ่มความปลอดภัย ความเร็ว และประสิทธิภาพ และดำเนินการในเดือนกันยายน 2022 โดยรวมบล็อกเชนดั้งเดิมเข้ากับบล็อกเชน ETH2

เหตุใด Ethereum 2.0 จึงจำเป็น การย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลยอดนิยมไปยังแพลตฟอร์มใหม่ ถือเป็นความพยายามในการทำเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่เพื่อให้อีเธอร์เรียมปรับขนาดและพัฒนายิ่งขึ้นไป การดำเนินการนี้จึงจำเป็น ซึ่งเหตุผล เป็นเพราะ วิธี “Proof of Work” ที่ใช้โดยบล็อกเชน ETH 1.0 ในการยืนยันธุรกรรมทำให้เกิดปัญหาคอขวด อีกทั้งยังทำให้ค่าธรรมเนียมเพิ่มสูงขึ้นและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก (โดยเฉพาะไฟฟ้า)

Proof of Work คืออะไร  ถ้าไม่มีหน่วยงานกลางอย่าง Visa หรือ Paypal มาเป็นตัวกลาง เครือข่ายสกุลเงินดิจิทัลจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีใครใช้จ่ายเงินจำนวนเดียวกันนี้สองครั้ง คำตอบคือ เครือข่ายสกุลเงินดิจิทัลใช้กลไกแบบฉันทามติ เมื่อเปิดตัว ETH 1.0 จึงได้มีการนำเอากลไกฉันทามติมาใช้ โดยมีชื่อที่เหมาะสมว่า Proof of Work ซึ่งกลไกประเภทนี้มีใช้ครั้งแรกในบิตคอยน์ 

  • Proof of Work ต้องใช้พลังในการประมวลผลจำนวนมากจากความทุ่มเทของ “นักขุด” แบบเสมือนจริงทั่วโลก ที่แข่งขันกันเพื่อแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ใช้เวลานานให้ได้เป็นคนแรก 

  • ผู้ชนะจะได้อัปเดตบล็อกเชนที่มีธุรกรรมที่ยืนยันแล้วล่าสุด และจะได้รับรางวัลเป็น ETH ในจำนวนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า  

  • กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 30 วินาที (ในขณะที่บิตคอยน์จะเกิดขึ้นทุกๆ 10 นาทีโดยประมาณ) ขณะที่ปริมาณการรับส่งข้อมูลในเครือข่ายเพิ่มสูงขึ้น ขีดจำกัดของ Proof of Work ได้ทำให้เกิดปัญหาคอขวดในระหว่างที่ค่าธรรมเนียมพุ่งสูงขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้

การค้ำประกันคืออะไร

กองเหรียญที่มีเครื่องหมายถูกอยู่ด้านบน

ผู้ก่อตั้งของอีเธอร์เรียมตระหนักถึงขีดจำกัดของ Proof of Work จึงได้มีการคิดค้นโซลูชันสำหรับ Ethereum 2.0 ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง โดยเป็นโซลูชันที่ในท้ายที่สุดจะอนุญาตให้เครือข่ายประมวลผลธุรกรรมอีเธอร์เรียมนับพันรายการต่อวินาทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Ethereum 2.0 ใช้กลไกฉันทามติที่มีชื่อว่า Proof of Stake ซึ่งทำงานได้รวดเร็วกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และ (อย่างน้อยในทางทฤษฎี) มีความปลอดภัยมากกว่า โดยผลลัพธ์สุดท้ายนั้นมีความคล้ายคลึงกับผลลัพธ์ของ Proof of Work กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมเครือข่ายจะได้รับเลือกให้ยืนยันธุรกรรมล่าสุด อัปเดตบล็อกเชน และรับ ETH 

  • Proof of Stake อาศัยเครือข่ายที่แข็งแกร่งของผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นผู้ที่ลงทุนเพื่อความสำเร็จของกลุ่มเครือข่ายอย่างแท้จริง แทนที่จะอาศัยเครือข่ายนักขุดให้แข่งขันกันแก้โจทย์

  • ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้เรียกว่า ผู้ตรวจสอบ โดยผู้ตรวจสอบจะมีส่วนร่วมโดยให้ ETH แก่ “กลุ่มค้ำประกัน” แทนการมีส่วนร่วมในด้านพลังการประมวลผลโดยทำหน้าที่เป็นนักขุด 

  • การมีส่วนร่วมโดยมอบ ETH ให้กับกลุ่มดังกล่าวนั้นเรียกว่า การสเตค หากเลือกสเตค ETH บางส่วน คุณจะได้รับรางวัลในสัดส่วนตามจำนวนที่คุณสเตค

  • เครือข่ายจะเลือกผู้ชนะโดยดูจากจำนวน ETH ที่ผู้ตรวจสอบแต่ละรายครอบครองภายในกลุ่มค้ำประกัน รวมถึงระยะเวลาที่ค้ำประกัน วิธีนี้จึงเป็นการให้รางวัลแก่ผู้เข้าร่วมที่ลงทุนมากที่สุด 

  • เมื่อผู้ชนะได้รับรองความถูกต้องบล็อกล่าสุดแล้ว ผู้ตรวจสอบคนอื่นๆ ก็จะสามารถยืนยันได้ว่าบล็อกนั้นถูกต้องหรือไม่ เมื่อจำนวนการยืนยันครบตามเกณฑ์แล้ว เครือข่ายจะอัปเดตบล็อกเชนดังกล่าว 

  • ผู้ตรวจสอบที่เข้าร่วมทั้งหมดจะได้รับรางวัลเป็น ETH ซึ่งเครือข่ายจะจ่ายให้ตามสัดส่วนการค้ำประกันของผู้ตรวจสอบแต่ละคน 

ความรู้พื้นฐานเรื่องสัญญาอัจฉริยะ

สัญญาอัจฉริยะได้รับการเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1990 โดยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และทนายความชื่อ Nick Szabo เขาได้ทำการเปรียบเทียบอันโด่งดังว่า สัญญาอัจฉริยะนั้นเป็นเหมือนกับเครื่องจำหน่ายสินค้าหยอดเหรียญ ลองนึกถึงตู้หยอดเหรียญที่ขายน้ำอัดลมกระป๋องราคา 25 เซ็นต์ เมื่อคุณใส่เงินเข้าไปหนึ่งดอลลาร์แล้วเลือกน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง ระบบในเครื่องจะทำงานเพื่อส่งเครื่องดื่มให้คุณพร้อมเงินทอน 75 เซ็นต์ หรือไม่ก็เสนอให้คุณเลือกเครื่องดื่มอื่นหรือคืนเงินหนึ่งดอลลาร์ให้คุณ (หากเครื่องดื่มที่คุณเลือกหมด) นี่เป็นตัวอย่างที่อธิบายถึงสัญญาอัจฉริยะได้อย่างง่ายๆ และเช่นเดียวกับตู้ขายน้ำอัดลมหยอดเหรียญที่ดำเนินการขายได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางที่เป็นมนุษย์ สัญญาอัจฉริยะก็สามารถดำเนินการแลกเปลี่ยนในทุกรูปแบบได้โดยอัตโนมัติ

ประวัติโดยย่อของอีเธอร์เรียม

ปี 2013 

  • Vitalik Buterin โปรแกรมเมอร์อายุ 19 ปี (และผู้ร่วมก่อตั้ง Bitcoin Magazine) ได้เผยแพร่สมุดปกขาวซึ่งนำเสนอบล็อกเชนที่มีความยืดหยุ่นสูง และรองรับธุรกรรมได้หลากหลายประเภทในแบบเสมือนจริง

เมื่อเร็วๆ นี้ Brian Armstrong ซึ่งเป็น CEO และผู้ร่วมก่อตั้งของเรา ได้พูดคุยกับ Vitalik Buterin ผู้สร้างอีเธอร์เรียม เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ ETH2 ไปจนถึงการขยายเศรษฐกิจสกุลเงินดิจิทัล

ปี 2014 

  • วัยรุ่นจากเมืองโตรอนโตพร้อมทีมผู้ร่วมก่อตั้งที่มี Gavin Wood เป็นสมาชิก ได้ระดมทุนเพื่อการพัฒนาโปรโตคอลอีเธอร์เรียม โดยมียอดขายโทเค็นก่อนเปิดตัวสูงถึง 18 ล้านดอลลาร์

ปี 2015 

  • บล็อกเชนอีเธอร์เรียมเวอร์ชันสาธารณะเวอร์ชันแรกเปิดตัวขึ้นในเดือนกรกฎาคม โดยฟังก์ชันสัญญาอัจฉริยะเริ่มเปิดตัวบนบล็อกเชนอีเธอร์เรียม

ปี 2016 

  • แฮกเกอร์โจรกรรมเงินราว 50 ล้านดอลลาร์จากกองทุนร่วมทุนที่ขับเคลื่อนโดยสัญญาอัจฉริยะในชื่อ DAO (ย่อมาจาก Decentralized Autonomous Organization) โดยการใช้ประโยชน์จากข้อบกพร่องของซอฟต์แวร์ 

  • ในการโหวตที่ผู้คนมีความเห็นแตกแยกกัน ชุมชนของอีเธอร์เรียมเลือกที่จะแก้ไขโปรโตคอลด้วยวิธีที่จะเรียกคืนเงินที่สูญเสียไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้บล็อกเชนของอีเธอร์เรียมแยกออกมา (ผ่านการ hard fork) เป็นสองบล็อกเชนแยกกัน โดยแต่ละสายจะมีชุมชนที่ใช้งานเป็นของตนเอง นั่นก็คือ อีเธอร์เรียมและ Ethereum Classic

ปี 2017 

  • มีการสร้างมาตรฐาน ERC-20 ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปพลิเคชันที่ใช้งานร่วมกันได้ง่ายยิ่งขึ้น โดย ERC-20 เป็นตัวกำหนดวิธีสร้างสินทรัพย์ (หรือโทเค็น) นอกเหนือจากบล็อกเชนของอีเธอร์เรียม 

  • แอปจากอีเธอร์เรียมแอปแรกที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาในรูปแบบของเกมชื่อ CryptoKitties ที่ให้ผู้ใช้รวบรวมและซื้อขายแมวดิจิทัล และต่อมาได้กลายเป็นแอปยอดนิยมที่ผู้คนคลั่งไคล้กันอย่างจริงจัง ถึงขนาดที่แมวดิจิทัลหายากมีการซื้อขายกันในราคาสูงถึง 200,000 ดอลลาร์ 

  • มีการเปิดตัวองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อว่า Ethereum Enterprise Alliance เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้จริงสำหรับเทคโนโลยีสัญญาอัจฉริยะ โดยสมาชิกประกอบด้วย JP Morgan, Samsung, Microsoft และ Mastercard 

  • เปิดตัว MakerDAO ซึ่งเป็นโปรโตคอลการเงินแบบกระจายอำนาจ (หรือ DeFi) บนบล็อกเชนอีเธอร์เรียม นอกจากนี้ Maker ยังเปิดตัวเหรียญที่มีราคาคงที่ของ ETH ตัวแรก นั่นก็คือ DAI อีกด้วย

  • ETH มีมูลค่าสูงถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก

ปี 2018

  • DeFi ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรรมด้านบริการทางการเงินด้วยการทำให้ธุรกรรมมีความรวดเร็วขึ้น ราคาถูกลง และปลอดภัยมากขึ้น ได้รับแรงผลักดันมาจากการใช้โปรโตคอลการกู้ยืมเงินอย่าง Compound และการแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจอย่าง Uniswap 

  • เปิดตัวเหรียญ USDC ซึ่งเป็นเหรียญที่มีราคาคงที่ เหรียญ USDC ได้รับการสนับสนุนโดย CENTRE Consortium ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Coinbase และ Circle โดยมีมูลค่าของเหรียญที่ออกถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปีแรก  

  • ETH มีมูลค่าแตะ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม ก่อนตกลงมาที่ 100 ดอลลาร์

ปี 2020 

  • ในเดือนธันวาคม เริ่มมีการอัปเกรดเป็น Ethereum 2.0 การเปลี่ยนผ่านอย่างสมบูรณ์จาก Ethereum 1.0 เป็น Ethereum 2.0 มีกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

  • Proof of Stake ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขั้นแรกของ Ethereum 2.0 โดย ETH 1.0 ยังคงใช้ Proof of Work เป็นกลไกฉันทามติต่อไป

ปี 2021

  • ETH ทำสถิติใหม่ตลอดกาลที่ 4,891 ดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน 2021

  • ดูราคาปัจจุบันได้ที่ https://www.coinbase.com/price/ethereum

คุณจะซื้ออีเธอร์เรียมได้อย่างไร

ไม่ว่าคุณจะได้ ETH มาอย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานสองสามประการ ที่อยู่ทุกรายการบนเครือข่ายอีเธอร์เรียมจะมีคีย์สาธารณะและคีย์ส่วนตัวออกให้ ซึ่งคุณจะต้องใช้กระเป๋าเงินเพื่อจัดการการถือครองเงินดิจิทัลของคุณ  

  • คีย์สาธารณะ: ลองนึกว่าคีย์สาธารณะเป็นเหมือนกับที่อยู่อีเมลสำหรับเงินดิจิทัล คีย์สาธารณะอีเธอร์เรียมของคุณคือพื้นที่ที่ผู้คนสามารถส่ง ETH และโทเค็นที่ใช้อีเธอร์เรียม เช่น USDC และ Dai ให้คุณได้ และคุณสามารถส่งให้คนอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัย

  • คีย์ส่วนตัว: ลองนึกว่าคีย์ส่วนตัวเป็นเหมือนกับรหัสผ่าน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คุณไม่ควรเปิดเผยข้อมูลนี้กับคนอื่นๆ คีย์ส่วนตัวคือชุดตัวอักษรและตัวเลขที่ยาวเรียงกัน (หรืออาจอยู่ในรูปแบบของชุดคำที่เรียกว่า Seed Phrase ก็ได้) การเก็บรักษาคีย์ส่วนตัวของคุณให้ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าสูญหายไปแล้ว นั่นหมายความว่าคุณจะสูญเสียอีเธอร์ไปเลย 

  • กระเป๋าเงิน: ในการจัดเก็บและรักษาอีเธอร์ให้ปลอดภัย คุณจะต้องใช้กระเป๋าเงิน หากเพิ่งเริ่มใช้ ตัวเลือกที่ง่ายที่สุดคือการสร้างบัญชีผ่านแอป Coinbase หรือทาง coinbase.com ซึ่งในกรณีนี้คุณจะต้องใช้งาน “กระเป๋าเงินที่มีระบบดูแล” (custodial wallet) ซึ่งจัดเก็บและรักษาคีย์ส่วนตัวของคุณให้ปลอดภัย เมื่อคุณใช้งานไปเรื่อยๆ คุณอาจต้องการจะดูตัวเลือกกระเป๋าเงินอื่นๆ ที่สร้างมาเพื่อโต้ตอบกับโปรโตคอลการเงินแบบกระจายอำนาจ (หรือ DeFi) เช่น Compound (แอปให้บริการกู้ยืมและออมเงิน) หรือ Uniswap (ช่องทางแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจที่ช่วยให้คุณซื้อขายเงินดิจิทัลได้)

อีเธอร์เรียมมีมูลค่าได้อย่างไร

การจะหาคำตอบของคำถามนี้เป็นไปได้หลายวิธีด้วย ในระดับหนึ่ง มูลค่าของอีเธอร์เรียมถูกกำหนดโดยตลาดต่างๆ เช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ ผู้คนซื้อโดยใช้บิตคอยน์ ดอลลาร์ ยูโร เยน และสกุลเงินอื่นๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ราคาในแต่ละวันจึงอาจมีความผันผวน โดยขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (มูลค่าของอีเธอร์เรียมมีแนวโน้มที่จะผันผวนเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอย่างดอลลาร์ หรือหุ้นเช่น Fortune 500 เนื่องจากยังเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่)

แต่ทำไมตลาดถึงกำหนดราคาเช่นนี้ นี่ยังคงเป็นคำถามที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก สำหรับนักลงทุนหลายๆ คน มูลค่าของอีเธอร์เรียมขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของอีเธอร์เรียมเองในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับการออกเหรียญที่มีราคาคงที่และสำหรับเรียกใช้แอปพลิเคชัน DeFi ส่งผลให้ฐานผู้ใช้เติบโตขึ้น และมีค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น 

อีเธอร์เรียมจะมีอะไรใหม่ๆ อีกบ้าง

เมื่อต้นปี 2024 Ethereum โฮสต์แอปพลิเคชันบล็อกเชนส่วนใหญ่และมีมูลค่าตลาดต่ำกว่า 265 พันล้านดอลลาร์ ปัจจุบันนี้ เหรียญที่มีราคาคงที่ซึ่งได้รับความนิยมมากอย่าง USDC และ USDT ส่วนใหญ่จะอยู่ในอีเธอร์เรียม เนื่องด้วยผลกระทบของเหรียญเหล่านั้นภายในเครือข่าย แต่บล็อกเชนสัญญาอัจฉริยะใหม่มากมายกำลัง เริ่มแข่งขันกัน ในวงการนี้

ซื้อบิตคอยน์ภายในไม่กี่นาที

เราเป็นผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับลูกค้ารายย่อยและบริษัทต่างๆ ในการซื้อ ขาย และจัดการเงินดิจิทัล

ดาวน์โหลดแอป