สัญญาอัจฉริยะคืออะไร
คำจำกัดความ
สัญญาอัจฉริยะก็เหมือนกับสัญญาทั่วไปที่มีการกำหนดเงื่อนไขของข้อตกลง แต่มีข้อแตกต่างจากสัญญาแบบทั่วไปๆ ตรงที่ว่า เงื่อนไขของสัญญาอัจฉริยะจะดำเนินงานเป็นโค้ดที่ทำงาน บนบล็อกเชน เช่น อีเธอร์เรียม ซึ่งสัญญาอัจฉริยะช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการเข้าถึงของบล็อกเชนได้ ขณะเดียวกันก็นำเสนอฟังก์ชันการทำงานแบบเพียร์ทูเพียร์ที่ซับซ้อน ซึ่งทำได้ทุกสิ่งตั้งแต่การดำเนินการสำหรับเงินกู้ การประกัน ตลอดจนโลจิสติกส์และเกม
สัญญาอัจฉริยะก็เหมือนกับสัญญาทั่วไปที่มีการระบุเงื่อนไขของข้อตกลงหรือข้อเสนอ และสิ่งที่ทำให้สัญญาอัจฉริยะนั้น “อัจฉริยะ” สมชื่อก็คือ เงื่อนไขของสัญญาอัจฉริยะจะดำเนินงานเป็นโค้ดที่ทำงานบนบล็อกเชน โดยไม่ได้อยู่ในเอกสารสำหรับทนายความ สัญญาอัจฉริยะเกิดจากการต่อยอดแนวคิดพื้นฐานของบิตคอยน์ในการส่งและรับเงินโดยไม่ต้องอาศัย “ตัวกลางที่น่าเชื่อถือ” เช่น ธนาคาร เพื่อให้ดำเนินธุ รกรรมได้อย่างปลอดภัยและกระจายอำนาจในข้อเสนอหรือธุรกรรมได้แบบเสมือนจริง ไม่ว่าจะมีความซับซ้อนมากเพียงใดก็ตาม และเนื่องจากสัญญาอัจฉริยะทำงานบนบล็อกเชนอย่างอีเธอร์เรียม สัญญาอัจฉริยะจึงปลอดภัย เชื่อถือได้ และเข้าถึงได้แบบไร้พรมแดน
สัญญาอัจฉริยะสำคัญอย่างไร
สัญญาอัจฉริยะช่วยให้นักพัฒนาสร้างแอปและโทเค็นแบบกระจายอำนาจได้หลากหลาย โดยสัญญาอัจฉริยะถูกนำไปใช้ในแทบจะทุกสิ่ง ตั้งแต่เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ไปจนถึงประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์และเกม ซึ่งสัญญาได้รับการจัดเก็บไว้บนบล็อกเชน เช่นเดียวกันกับธุรกร รมเงินดิจิทัลอื่นๆ เมื่อเพิ่มแอปสัญญาอัจฉริยะเข้าไปในบล็อกเชนแล้ว แอปนั้นมักจะไม่สามารถย้อนกลับหรือเปลี่ยนแปลงได้ (แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางประการ)
แอปที่ขับเคลื่อนด้วยสัญญาอัจฉริยะมักถูกเรียกว่า “แอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ” หรือ “dapps” ซึ่งภายในแอปมีเทคโนโลยีการเงินแบบกระจายอำนาจ (หรือ DeFi) ที่มุ่งเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมด้านการธนาคาร โดยแอป DeFi ช่วยให้ผู้ถือครองเงินดิจิทัลสามารถทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อน เช่น การออมเงิน การกู้ยืม หรือการทำประกันได้จากทุกมุมโลก โดยไม่ต้องมีธนาคารหรือสถาบันทางการเงินอื่นๆ มาเก็บค่าบริการ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วยสัญญาอัจฉริยะอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันด้วย เช่น
Uniswap: แอปแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจที่ช่วยให้ผู้ใช้ซื้อขายเงินดิจิทัลบางประเภทผ่านสัญญาอัจฉริยะได้ โดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางมากำหนดอัตราแลกเปลี่ยน
Compound: แพลตฟอร์มที่ใช้สัญญาอัจฉริยะเพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รับดอกเบี้ย และช่วยให้ผู้กู้ยืมรับเงินกู้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีธนาคารมาเป็นตัวกลาง
USDC: สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐผ่านสัญญาอัจฉริยะ จึงทำให้ USDC หนึ่งเหรียญมีมูลค่าเท่ากับหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง USDC เป็นหนึ่งในเงินดิจิทัลหมวดหมู่ใหม่ล่าสุดที่รู้จักกันในชื่อ เหรียญที่มีมูลค่าคงที่
แล้วคุณจะใช้เครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วยสัญญาอัจฉริยะเหล่านี้ได้อย่างไร ลองนึกภาพว่าคุณกำลังถือครองอีเธอร์เรียมอยู่จำนวนหนึ่ง และคุณต้องการแลกเป็น USDC คุณอาจนำอีเธอร์เรียมบางส่วนไปไว้ใน Uniswap ซึ่งเมื่อดำเนินการผ่านสัญญาอัจฉริยะ ระบบจะสามารถค้นหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด จากนั้นทำการแลกเปลี่ยน และส่ง USDC ให้คุณได้โดยอัตโนมัติ จากนั้นคุณอาจใช้ USDC บางส่วนลงทุนใน Compound เพื่อปล่อยกู้ให้แก่คนอื่นๆ และรับดอกเบี้ยในอัตราที่กำหนดโดยอัลกอริธึม ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยไม่ต้องอาศัยธนาคารหรือสถาบันทางการเงินอื่นๆ เลย
สำหรับการเงินแบบทั่วๆ ไป การแลกเปลี่ยนสกุลเงินนั้นมีราคาแพงและใช้เวลานาน และการปล่อยกู้สินทรัพย์สภาพคล่องให้แก่คนแปลกหน้าที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือปลอดภัยสำหรับบุคคลทั่วไป แต่สัญญา อัจฉริยะทำให้ทั้งสองกรณีนี้ และกรณีอื่นๆ อีกมากมายเป็นไปได้
สัญญาอัจฉริยะทำงานอย่างไร
ปัจจุบันนี้ อีเธอร์เรียมเป็นแพลตฟอร์มสัญญาอัจฉริยะที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่บล็อกเชนเงินดิจิทัลอื่นๆ มากมาย (เช่น EOS, Neo, Tezos, Tron, Polkadot และ Algorand) ก็ใช้งานได้เช่นกัน โดยที่ทุกคนสามารถสร้างและใช้งานสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชนได้ โค้ดของสัญญาอัจฉริยะจะมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้แบบสาธารณะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่สนใจจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สัญญาอัจฉริยะใช้ตรรกะใดเมื่อได้รับสินทรัพย์ดิจิทัล
สัญญาอัจฉริยะเขียนด้วยภาษาโปรแกรมที่หลากหลาย (ทั้ง Solidity, Web Assembly และ Michelson) ในเครือข่ายอีเธอร์เรียม โค้ดของสัญญาอัจฉริยะแต่ละสัญญาจะถูกจัดเก็บไว้บนบล็อกเชน ผู้ที่สนใจจึงสามารถตรวจสอบโค้ดและสถานะปัจจุบันของสัญญา เพื่อยืนยันฟังก์ชันการทำงานของสัญญาดังกล่าวได้
คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องในเครือข่าย (หรือ “โหนด”) จะจัดเก็บสำเนาของสัญญาอัจฉริยะที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงสถานะปัจจุบันพร้อมกับข้อมูลบล็อกเชนและข้อมูลธุรกรรมในสัญญาด้วย
เมื่อสัญญาอัจฉริยะได้รับเงินทุนจากผู้ใช้ โหนดทั้งหมดในเครือข่ายจะสั่งให้โค้ดของสัญญาทำงาน เพื่อให้เป็นไปตามฉันทามติเกี่ยวกับผลลัพธ์ และส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนมูลค่า ซึ่งการดำเนินการนี้ช่วยให้สัญญาอัจฉริยะทำงานได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีการควบคุมจากส่วนกลาง แม้ว่าผู้ใช้จะทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนกับหน่วยงานที่ไม่รู้จักก็ตาม
หากต้องการให้สัญญาอัจฉริยะดำเนินงานบนเครือข่ายอีเธอร์เรียม โดยทั่วไปแล้วคุณจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่เรียกกันว่า “แก๊ซ” (ที่เป็นชื่อนี้ก็เพราะว่า ค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ช่วยให้บล็อกเชนทำงาน)
เมื่อนำไปใช้บนบล็อกเชนแล้ว สัญญาอัจฉริยะมักเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้แต่ผู้สร้างเองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน (แต่กฎนี้ก็มีข้อยกเว้น) วิธีนี้ทำให้มั่นใจว่าสัญญาจะไม่ถูกเซ็นเซอร์หรือปิดการทำงาน