โลโก้ของ Coinbase

ข่าวสารผ่านบล็อก #8: อนาคตและศักยภาพของ Synthetic Asset

ข่าวสารผ่านบล็อก #8: อนาคตและศักยภาพของ Synthetic Asset

ข่าวสารผ่านบล็อกของ Coinbase จะมาไขความกระจ่างของข้อสงสัยประเด็นหลักๆ ในโลกของเงินดิจิทัล และในฉบับนี้ Justin Mart จะมาเจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ประเภท Synthetic Asset รวมถึงข่าวที่น่าสนใจอื่นๆ ในโลกของเงินดิจิทัล

ทุกวันนี้ แอปพลิเคชันระบบการเงินแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance หรือ DeFi) ส่วนใหญ่มีลักษณะที่ถอดแบบมาจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วไปไม่มีผิด คุณสามารถแลกเปลี่ยนโทเค็นหนึ่งเป็นอีกโทเค็นหนึ่งได้ อีกทั้งยังกู้ยืมหรือปล่อยกู้โทเค็นในตลาดเงิน หรือแม้กระทั่งซื้อขายในตลาดแลกเปลี่ยนได้โดยใช้เงินลงทุนที่กู้ยืมเพื่อการซื้อ (Margin) และอัตราที่สามารถลงทุนได้ (Leverage)

แต่ความสามารถของ DeFi ไปไกลกว่านั้นมาก ด้วยบล็อกเชนที่เป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดกว้างทั่วโลก ซึ่งมีโครงสร้างแบบสารพัดประโยชน์ที่สามารถตั้งโปรแกรมคำสั่งได้อยู่ภายใน ทำให้การที่ DeFi จะสร้างความแปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำกับในระบบแบบดั้งเดิมได้จนประสบความสำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับแค่ระยะเวลาเพียงอย่างเดียว

ลองมาดูจากตัวอย่างแรกที่น่าจะเป็นไปได้ในประเด็นนี้อย่าง Synthetic Asset

Synthetic Asset คืออะไร

Synthetic Asset เป็นตราสารอนุพันธ์รูปแบบใหม่ ลองนึกถึงคำจำกัดความของตราสารอนุพันธ์ ซึ่งก็คือสินทรัพย์ที่มูลค่านั้นอ้างอิงมาจากสินทรัพย์หรือเกณฑ์มาตรฐานประเภทอื่น เช่นในตลาดฟิวเจอร์สหรือออปชัน ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายทำการซื้อขายสัญญาที่อิงกับราคาในอนาคตของสินทรัพย์หนึ่ง

ใน DeFi จะแตกต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่ว่า Synthetic Asset อยู่ในรูปแบบโทเค็นที่มีลักษณะเป็นตราสารอนุพันธ์แบบดิจิทัล ตราสารอนุพันธ์เป็นสัญญาทางการเงินที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงสินทรัพย์อ้างอิงหรือสร้างอำนาจทางการเงินในระดับที่กำหนดได้เอง ส่วน Synthetic Asset จะมีลักษณะเป็นโทเค็นที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันกับตราสารอนุพันธ์

และนั่นทำให้ Synthetic Asset มีข้อดีที่แตกต่างออกไปดังนี้

  • สร้างได้โดยไม่ต้องอาศัยการอนุญาต: บล็อกเชนอย่างอีเธอร์เรียมเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถสร้างระบบสินทรัพย์ Synthetic Asset ได้

  • เข้าถึงและโอนได้ง่าย: การโอนและซื้อขาย Synthetic Asset สามารถทำได้อย่างอิสระ

  • เป็นกลุ่มสภาพคล่องสำหรับผู้คนทั่วโลก: บล็อกเชนมีลักษณะที่เปิดกว้างทั่วโลกอยู่แล้ว ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกจึงเข้ามามีส่วนร่วมได้

  • ไม่มีความเสี่ยงจากฝ่ายที่เป็นตัวกลาง: เนื่องจากไม่มีฝ่ายตัวกลางที่มีอำนาจเหนือฝ่ายอื่นๆ

ตัวอย่างบางส่วนมีอะไรบ้าง

เริ่มแรกจะต้องทราบก่อนว่า Synthetic Asset แปลงสินทรัพย์ที่จับต้องได้จริงให้อยู่ในรูปแบบโทเค็นได้ โดยนำสินทรัพย์เหล่านั้นเข้าไปในบล็อกเชน แล้วปรับแต่งให้มีคุณลักษณะตามข้อดีทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยลองคิดภาพให้เป็นกรณีที่ว่า ทุกคนบนโลกนี้สามารถซื้อโทเค็นที่มีมูลค่าอิงกับดัชนี S&P 500 และนำโทเค็นนั้นไปใช้เป็นหลักประกันในโครงการ DeFi อื่นๆ เช่น Compound, Aave หรือ MakerDAO ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็นำไปปรับใช้กับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำหรือพืชเมล็ด หุ้นอย่าง TSLA หรือกองทุนดัชนีอย่าง SPY ตราสารหนี้อย่างพันธบัตร รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ ได้อีกด้วย

คำว่า สินทรัพย์อื่นๆ ในท้ายประโยคด้านบน ก็ยิ่งทำให้กรณีนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และในยุคนี้ การเกิดขึ้นของเครื่องมือทางการเงินที่แปลกใหม่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป ทั้งตลาดป็อปคัลเจอร์ ตลาดมีม ตลาดโทเค็นของบุคคล และตลาดอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทำการซื้อขายกันผ่าน Synthetic Asset ได้

ขนาดของตลาดที่ต้องประเมินได้นั้นก็มีความสำคัญ เนื่องจากสินทรัพย์ใดๆ ก็ตามจะสามารถเข้าสู่บล็อกเชนได้ในรูปแบบของการเป็น Synthetic Asset และจากข้อมูลอ้างอิงเพียงข้อมูลเดียวก็พบว่า ปริมาณการซื้อขายหุ้นรวมทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ปี 2020 อยู่ที่ราว 32.5 ล้านล้านดอลลาร์ ตามทฤษฎีแล้ว ปริมาณดังกล่าวในบางส่วนอาจแทนที่ได้ด้วยสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปแบบ Synthetic Asset ซึ่งมีการซื้อขายกันในกลุ่มสภาพคล่องสำหรับผู้คนทั่วโลก และเข้าถึงได้แบบเปิดกว้างสำหรับทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง: Poop Exchange

ในช่วงปลายปี 2019 นักพัฒนาจำนวนหนึ่งผุดไอเดียแล้วร่วมกันเปิดตัวสินทรัพย์จำลองชนิดหนึ่งขึ้นมา โดยตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นอย่างไรหากมี Synthetic Asset ที่อ้างอิงตามการพบเจออุจจาระตามที่สาธารณะในซานฟรานซิสโก โดยผู้ถือครองโทเค็นนี้จะได้กำไรเมื่อจำนวนการพบเห็นอุจจาระเพิ่มมากขึ้น และผู้ปล่อยโทเค็นก็จะได้กำไรเมื่อจำนวนการพบเห็นอุจจาระลดลง ซึ่งระบบนี้ใช้ออราเคิลที่ทำหน้าที่รายงานจำนวนอุจจาระที่พบเห็น

ตลาดโทเค็นอุจจาระมีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับหน่วยงานท้องถิ่นของซานฟรานซิสโก หากทางการของซานฟรานซิสโกออกโทเค็นอุจจาระ พวกเขาก็จะได้รับผลตอบแทนจากการเก็บกวาดทางเดินสาธารณะให้สะอาด และในอีกมุมหนึ่ง พลเมืองก็อาจหันมาซื้อโทเค็นอุจจาระ โดยเชื่อว่าจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ เพราะอย่างน้อยก็จะได้กำไรแม้ว่าทางเดินสาธารณะจะไม่ได้สะอาดขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งนี่คือตัวอย่างง่ายๆ แต่แสดงถึงศักยภาพของ Synthetic Asset และตลาดอะไรก็ได้ได้เป็นอย่างดี

ATB #8 | การพบเห็นอุจจาระ

แพลตฟอร์ม Synthetic Asset ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอย่างไร

Universal Market Access (UMA)*

UMA เป็นโปรโตคอล Synthetic Asset ที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิม รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินดิจิทัลและอื่นๆ อีกมากมาย ในโปรโตคอล UMA ฝ่ายคู่สัญญาทั้งสองจะต้องร่วมกันสร้างสัญญาทางการเงินตามที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดโดยไม่ต้องผ่านการอนุญาตใดๆ โดยมีรางวัลจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ (หลักประกัน) คอยค้ำประกันไว้ และเปิดให้ดำเนินการผ่านสัญญาอัจฉริยะในอีเธอร์เรียม ด้วยคุณลักษณะของอีเธอร์เรียมที่เปิดกว้างและใช้ได้ทั่วโลก ทำให้อุปสรรคที่ขวางกั้นการเข้าถึงลดน้อยลงไปอย่างมาก จนเกิดเป็นการเข้าถึงตลาดได้แบบสากล หรือ “Universal Market Access”

ในปัจจุบัน สมาชิกชุมชน UMA มีจุดมุ่งหมายในการสร้างอัตราผลตอบแทนที่เป็นโทเค็น (เช่น yUSD) แต่ตัวแพลตฟอร์มเองก็เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาใช้เพื่อสร้างลักษณะการทำงานในรูปแบบใดก็ได้ให้กับสัญญาทางการเงิน เช่นในตัวอย่างดังต่อไปนี้

  • สัญญาเงินดิจิทัล: โทเค็นที่ซื้อขายแบบฟิวเจอร์ส อัตราผลตอบแทน ตราสารอนุพันธ์แบบไม่มีวันหมดอายุและมีการชำระราคาทุกวัน (Perpetual Swap) สำหรับเงินดิจิทัลและอื่นๆ อีกมากมาย

  • โทเค็นที่อ้างอิงจากมาตรวัดของสกุลเงินดิจิทัลและ DeFi: เช่น สัดส่วนทางการตลาดที่สูงที่สุดของ BTC หรือแผนภูมิ TVL ของ DeFi แผนภูมิแสดงสถิติของตลาดแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ (DEX) หรือมาตรวัดอื่นๆ

  • ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบดั้งเดิม: หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นสากล (เช่น โทเค็น TSLA หรือ APPL) รวมถึงแผนบำนาญจากภาคเอกชน ประกัน และผลิตภัณฑ์บำนาญ

  • ตลาดซื้อขายที่ไม่ซ้ำใคร: เช่น แบบจำลอง poop.exchange รวมถึงตลาดป็อปคัลเจอร์และตลาดมีม เป็นต้น

ATB #8 | วิธีการทำงาน: ตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน (สำหรับ Apple)

UMA กำลังปูทางให้โปรโตคอลของตนเองเป็นโปรโตคอลสำหรับตลาดการเงินหลายๆ แห่งที่น่าสนใจและแปลกใหม่ อย่างเช่นใน poop.exchange ที่เราจะเห็นได้ว่า บางส่วนของสัญญาเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อจัดการกับรางวัลจูงใจอีกครั้งหนึ่งในระดับฐานการทำงาน นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เริ่มจากศูนย์อย่างแท้จริง

* หมายเหตุ: UMA เป็นบริษัทที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของ Coinbase Ventures

Synthetix

Synthetix เป็นโปรโตคอลเพื่อการสร้างสภาพคล่องแบบสากลสำหรับ Synthetic Asset ที่อยู่ในอีเธอร์เรียม โดย Synthetix จะคอยอำนวยความสะดวกให้กับการสร้างและซื้อขายสินทรัพย์หลากหลายประเภท ทั้งเงินดิจิทัล หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ในแบบออนเชนทั้งหมด

โทเค็นที่อิงกับราคาของสินทรัพย์เหล่านี้สามารถซื้อและขายได้ภายในระบบนิเวศ Synthetix ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่ทำงานด้วยการผสมผสานกันระหว่างหลักประกัน สินทรัพย์ที่ค้ำประกัน และค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ที่น่าสนใจก็คือตอนนี้ Synthetix กำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ทำให้ทุกส่วนทำงานได้ด้วยโครงสร้างของหลายๆ DAO ซึ่งการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้จะทำให้โทเค็น SNX เป็นศูนย์กลางของทั้งระบบนิเวศ และ SNX จะสามารถนำไปใช้ค้ำประกันเพื่อเปิดโอกาสให้มีการซื้อขาย Synthetic Asset แบบมีหลักประกันรองรับ แล้วรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายเป็นการตอบแทน นอกจากนี้ SNX ยังทำหน้าที่เป็นโทเค็นการควบคุมในหลายๆ DAO อีกด้วย

Synthetix ตอกย้ำถึงการเป็นแพลตฟอร์ม Synthetic Asset ที่ใหญ่ที่สุดใน DeFi โดยออก “Synth” มูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในบรรดาสินทรัพย์เหล่านั้นก็คือ sUSD เหรียญที่มีมูลค่าคงที่ประจำแพลตฟอร์ม ด้วยมูลค่าตามราคาตลาด 100 ล้านดอลลาร์

ในปัจจุบัน Synthetix มี Synthetic Asset สำหรับเงินดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ เช่น sETH และ sBTC อีกทั้งยังมีโทเค็นดัชนีอย่าง sDeFi และ sCEX ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งความนิยมส่วนใหญ่ในแพลตฟอร์มนี้น่าจะมาจากการออกแบบตลาดที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายสินทรัพย์โดยไม่อ้างอิงกับราคาที่เป็นหลัก จึงทำให้ราคาไม่คาดเคลื่อนเมื่อมีการซื้อหรือขาย

ปริมาณการซื้อขาย Synth รายสัปดาห์

แพลตฟอร์มอื่นๆ

มีแพลตฟอร์ม Synthetic Asset อื่นๆ อีกมากมายที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง โดยมีทั้งข้อดีข้อเสียและการตัดสินใจด้านการออกแบบที่แตกต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น Morpher, DerivaDEX*, FutureSwap, DyDx และ Opyn, Hegic หรือ Augur

* หมายเหตุ: DerivaDEX เป็นบริษัทที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนของ Coinbase Ventures

สรุป

Synthetic Asset เป็นตราสารอนุพันธ์แบบใหม่ที่เกิดขึ้นได้จากการเติบโตของอีเธอร์เรียมและระบบนิเวศ DeFi ซึ่งในตอนนี้ยังเป็นเพียงแค่ระยะเริ่มต้น เราจึงต้องคอยสังเกตถึงสัญญาณของความเสี่ยงต่อไปนี้ที่เกิดจากข้อบกพร่องต่างๆ

  • ความเสี่ยงในสัญญาอัจฉริยะ: การใช้ประโยชน์จากสัญญาอัจฉริยะในทางมิชอบนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยที่ Synthetic Asset อาจเป็นเป้าหมายที่ล่อตาล่อใจ

  • ความเสี่ยงด้านการควบคุมดูแล: โดยส่วนใหญ่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มีการกระจายอำนาจให้แต่ละบุคคล ทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ค่อยได้ผ่านการทดสอบเมื่อปรับขนาด

  • ความเสี่ยงในออราเคิล: เพื่อให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ หลายๆ Synthetic Asset จึงอาศัยออราเคิล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามความไว้วางใจในสินทรัพย์หนึ่งๆ รวมถึงความเสียหายผิดพลาดในสินทรัพย์นั้น

  • ความเสี่ยงในแพลตฟอร์ม: อีเธอร์เรียมและบล็อกเชนอื่นๆ ในระดับฐานการทำงานอาจหยุดชะงักไปเมื่อมีการปรับขนาด และประสิทธิภาพการทำงานอาจตกต่ำลงในช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้งาน ตลาดค่าธรรมเนียมก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีพอ การโจมตีจากการหาผลประโยชน์แบบตัดหน้าด้วยข้อมูลวงในและการโจมตีจากความสูญเสียอาจเป็นปัญหาตามมา

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องลองหักลบข้อดีข้อเสียดู Synthetic Asset ช่วยเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงอย่างเปิดกว้างทั่วโลกในตลาดการเงินที่มีอยู่แล้ว โดยทำหน้าที่เป็นหน่วยในระดับพื้นฐานที่สำคัญ และเมื่อลองมองลึกลงไปก็จะเห็นถึงนวัตกรรมที่อยู่เบื้องหลังของตลาดที่เกิดขึ้นได้จากทุกสิ่ง

เราสามารถนำหน่วยในระดับพื้นฐานนี้มาใช้สร้างตลาดทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งมีความสามารถในการจัดแบ่งรางวัลจูงใจในระดับฐานการทำงาน และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปได้


รวมประเด็นที่น่าสนใจ: บทวิเคราะห์จากข่าวใหญ่

ปริมาณ DEX เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยอานิสงส์จากการทดลองด้านการเงินครั้งใหม่ใน DeFi

ในอดีต DEX พบปัญหาด้านการเติบโต โดยมีการซื้อขายราว 3 พันล้านดอลลาร์เท่านั้นในช่วงปี 2019 แต่ปริมาณการซื้อขายกลับเพิ่มขึ้นในปี 2020 ด้วยมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี และ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา การเติบโตที่ทะยานสูงขึ้นนี้ช่วยผลักดันให้ ตัวเลขการนำ DEX ไปใช้พุ่งสูงขึ้น และนำ DEX ไปสู่ความสนใจในวงกว้าง

ปริ�มาณการซื้อขายในแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนแบบกระจายอำนาจ

ตัวเลขแสดงปริมาณการซื้อขายนี้มาจากที่อยู่ที่มีความเคลื่อนไหวในการใช้งานราว 200,000 ที่อยู่ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา (ในขณะที่ Uniswap เพียงแพลตฟอร์มเดียวมีจำนวนที่อยู่ดังกล่าวราวๆ 160,000 แต่ก็ดูเหมือนว่าที่อยู่บางส่วนจะเป็นที่อยู่จากหลายๆ แพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน) Uniswap ครองส่วนแบ่งทางการตลาดของ DEX สูงสุดที่ราว 45% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (โดยครองส่วนแบ่งได้ถึง 70% ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว) ขณะที่ DEX ยอดนิยมอื่นๆ อย่าง Curve และ Balancer ก็ครองส่วนแบ่งในตลาดตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันที่ 16% และ 7% ตามลำดับ โดยมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Serum รวมถึง Sushiswap และแพลตฟอร์มอื่นๆ เข้ามาเป็นคู่แข่งในอันดับต้นๆ ด้วย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ DEX เติบโต คือ การถือกำเนิดขึ้นของหลากหลายโครงการ DeFi ที่ก่อให้เกิดรูปแบบทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งโดยส่วนมากเปิดตัวผ่าน “Fair Launch” ซึ่งเป็นการเปิดตัวที่ไม่มีเจ้าของรายก่อนหน้าและไม่มีการจัดหาเงินทุนจากภายนอก ไม่มีการจำกัดอุปทาน และแจกจ่ายผลตอบแทนผ่าน Yield Farming เท่านั้น ดังนั้นแล้ว คุณลักษณะดังกล่าวจึงเป็นตัวบ่งบอกถึงการทดลองและทฤษฎีเกมในหลายๆ ขั้น ซึ่งเราไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน โดยตัวอย่างบางส่วนมีดังนี้

Ampleforth (AMPL)

หนึ่งในตัวอย่างของโครงการที่สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาก็คือ Ampleforth (AMPL) โครงการที่มีโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งมุ่งควบคุมมูลค่าของโทเค็น AMPL ให้มีมูลค่าใกล้เคียง $1 โดยใช้ระบบอัตโนมัติในการปรับอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ ซึ่งกระบวนการนี้ก็คือการปรับสมดุล โดยมีแนวทางง่ายๆ ก็คือเมื่อโทเค็น AMPL มีมูลค่าสูงกว่า $1 มูลค่าคงเหลือของผู้ใช้ทุกคนจะเพิ่มขึ้น เพื่อปรับให้ราคาต่อหน่วยลดลง แต่หากโทเค็น AMPL มีมูลค่าต่ำกว่า $1 มูลค่าคงเหลือของผู้ใช้ทุกคนจะลดลง เพื่อปรับให้ราคาเพิ่มขึ้น และแม้ว่าจะมีการปรับสมดุล แต่ส่วนแบ่งทางการตลาดก็จะยังคงอยู่ในระดับเดิม

ราคา��และมูลค่าตามราคาตลาดของ AMPL

Yam (YAM)

Yam เปิดตัวขึ้นอย่างไม่คาดคิดในวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งคาดว่าใช้เวลาสร้างขึ้นเพียง 10 วัน โดยนำโค้ดมาจากหลายๆ โครงการ DeFi ที่ผ่านการต่อสู้ในสงครามโปรโตคอลมาแล้ว โดย Yam ทำงานคล้ายกับ AMPL มาก แต่มีข้อแตกต่างดังนี้

  • กลไกการปรับสมดุลอุปสงค์และอุปทานมีลักษณะคล้ายกับ AMPL มาก โดยกำหนดมูลค่าไว้ที่ $1

  • ระบบคลังที่ได้รับการควบคุมดูแลโดยผู้ถือครอง YAM โดยเป็นสินทรัพย์ในคลังที่ได้จากการปันสัดส่วนในขั้นตอนปรับสมดุลอุปสงค์และอุปทาน เพื่อนำไปซื้อเหรียญที่มีมูลค่าคงที่

  • สัญญาการควบคุมดูแลที่เปิดให้ผู้คนในชุมชนเป็นผู้ควบคุมดูแลสินทรัพย์ในคลัง โดยออกเสียงโหวตว่าจะทำอย่างไรกับสินทรัพย์ที่มีในคลัง

  • การกระจายและแบ่งปันอย่างยุติธรรม โดยไม่มีการแบ่งปันโทเค็นให้กับทีมงานหรือนักลงทุน แต่จะแบ่งปันอย่างทั่วถึงผ่านการทำ Yield Farming

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือเหตุการณ์ใน DeFi ที่เห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน กล่าวคือ YAM เวอร์ชันแรกนั้นดำเนินงานได้ไม่ดีนัก โดยมีข้อบกพร่องในสัญญาการปรับสมดุลอุปสงค์และอุปทาน และสัญญาการควบคุมดูแล ผลลัพธ์ที่น่าสังเกตของข้อบกพร่องในทั้งสองสัญญาที่แตกต่างกันนั้นทำให้เห็นว่า ความพยายามในการแก้ไขสัญญาการปรับสมดุลนั้นถูกขัดขวางโดยข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในสัญญาการควบคุมดูแล และในท้ายที่สุดก็ส่งผลให้เกิดระบบการทำงานที่ชำรุด โดยมีเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ถึง 750,000 ดอลลาร์ติดอยู่ในระบบอย่างถาวร

แล้วผลลัพธ์ในแง่ลบออกมาเป็นอย่างไร YAM V1 ชำรุด แต่ผู้คนในชุมชนก็ร่วมด้วยช่วยกัน Fork โค้ดออกมา และกำลังเตรียมเปิดตัว YAM V2

นอกจาก AMPL และ YAM แล้ว โทเค็นอื่นๆ ก็เปิดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน

  • Spaghetti.Money: โทเค็นจากการ Yield Farming ที่ไม่ใช่โทเค็นการควบคุม (เพื่อไม่ให้ซ้ำรอย YAM) และไม่มีภาวะเงินฝืด (โดยจำนวนเงิน 1% ของธุรกรรมทุกๆ รายการจะถูกทำลาย)

  • Shrimp.Finance: โทเค็นจากการ Yield Farming ที่ไม่มีกลไกปรับสมดุล Shrimp เลือก DICE และ CREAM โทเค็นที่ไม่ได้รับความนิยมในกระแสหลักมากนักมาใช้เป็นโทเค็นเพื่อการค้ำประกัน โดยใช้กลไกรูปแบบใหม่เพื่อให้เจาะกลุ่มชุมชนได้หลากหลาย

  • Zombie.Finance: โทเค็นจากการ Yield Farming ที่มีกลไกการปรับสมดุล และมีกฎเพิ่มเติมในการขจัดผู้ถือครองโทเค็นที่มี ZOMBIE เพียง 1 โทเค็นหลังจากการปรับสมดุลออกไป

  • $BASED: เกมไก่ตื่นในทางเศรษฐศาสตร์ที่เริ่มต้วยการทำ Yield Farming และจะเปลี่ยนผ่านไปเป็นการปรับสมดุลในอนาคตอันใกล้นี้

ไม่มีใครรู้ว่าผลลัพธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร การทดลองทั้งหมดเหล่านี้กำลังแสดงผลลัพธ์ออกมาในแบบเรียลไทม์ พร้อมๆ กับแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริง และในปัจจุบัน การซื้อขายเหล่านั้นก็มีให้เห็นเป็นส่วนใหญ่ในหลายๆ แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยน

ข่าวจาก Coinbase

ข่าวสารจากแวดวงเงินดิจิทัล

ข่าวเงินดิจิทัลในระดับสถาบันและองค์กร

ข่าวสารในแวดวงธุรกิจเกิดใหม่ด้านเงินดิจิทัล

ดาวน์โหลดแอป